Search
Close this search box.
Search
Close this search box.

รวม 7 ข้อควรรู้ก่อนโหลดกระเป๋าใต้เครื่อง เที่ยวสนุกไม่มีสะดุด

ข้อควรรู้ก่อนโหลดกระเป๋าใต้เครื่อง เที่ยวสนุกไม่มีสะดุด
Table of Contents

Bangkok Airways สรุปให้

  • การเช็กข้อมูลการโหลดกระเป๋าใต้เครื่องนั้นสำคัญมาก ไม่ว่าจะเป็นโควต้าน้ำหนัก ขนาดกระเป๋า รวมถึงสัมภาระต่าง ๆ ที่โหลดได้และสิ่งของต้องห้าม นอกจากจะช่วยเรื่องการแพ็กกระเป๋าเดินทางแล้ว ยังช่วยประหยัดเวลาตอนเช็กอิน และหลีกเลี่ยงปัญหากวนใจที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่คาดฝันได้
  • ในการจัดกระเป๋าเดินทางเพื่อโหลดใต้เครื่อง ต้องเริ่มตั้งแต่การเลือกขนาดกระเป๋าให้เหมาะสมที่สามารถจุของใช้ที่จำเป็นสำหรับการเดินทาง เราจึงควรวางแผนทริปให้ดี เช่น หากเดินทาง 3-4 วัน เลือกใช้กระเป๋าเดินทางขนาด 22-24 นิ้วถือว่ากำลังดี พื้นที่ใส่ของเพียงพอทั้งเสื้อผ้าพร้อมเที่ยวและของฝากติดมือกลับบ้าน

ทุกการท่องเที่ยวมีเรื่องราวที่น่าตื่นเต้นประทับใจรอให้เราไปเปิดประสบการณ์ใหม่อยู่เสมอ และเพื่อการเดินทางที่ราบรื่นไม่มีสะดุด การเตรียมตัวให้พร้อมจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก ซึ่งหลายคนอาจจะยังไม่แน่ใจว่าควรจัดกระเป๋าเดินทางแบบไหน มีสิ่งของประเภทใดที่ไม่สามารถโหลดใต้เครื่องบินได้ หรือมีข้อควรระวังอะไรบ้างที่เราจำเป็นต้องรู้  วันนี้ Bangkok Airways จึงรวบรวม 7 ข้อควรรู้ก่อนโหลดกระเป๋าใต้เครื่องมาฝาก เพื่อให้การเดินทางของทุกคนสะดวกสบายไร้กังวล

7 ข้อควรรู้ในการโหลดกระเป๋าใต้เครื่อง เพื่อการเดินทางที่ราบรื่น

1. เช็กโควต้าน้ำหนัก และขนาดกระเป๋าที่สายการบินกำหนด

ชั่งน้ำหนักกระเป๋าเดินทาง

อันดับแรกควรศึกษาโควต้าน้ำหนักกระเป๋าโหลดใต้เครื่องของสายการบินที่เราเลือกใช้บริการ เพื่อที่จะจัดเตรียมกระเป๋าเดินทางให้เหมาะสม และถูกต้องตามเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งเกณฑ์แต่ละสายการบินจะแตกต่างกันไปตามประเภทที่นั่ง หรือเส้นทางการบิน ยกตัวอย่างเช่น

  • สายการบิน Bangkok Airways : หากโดยสารที่นั่งชั้นประหยัด จะโหลดกระเป๋าได้ 20 กิโลกรัม และที่นั่งชั้นธุรกิจ จะโหลดกระเป๋าได้ 40 กิโลกรัม

สำหรับขนาดกระเป๋า โดยส่วนใหญ่แล้วกระเป๋าเดินทางที่มีขนาดเกิน 20-22 นิ้ว สายการบินจะแนะนำให้ผู้โดยสารโหลดกระเป๋าใต้เครื่องเพื่อความสะดวกและปลอดภัย และในกรณีที่กระเป๋าเดินทางมีขนาดใหญ่หรือมีน้ำหนักเกินกำหนด การซื้อน้ำหนักสัมภาระเพิ่มก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ช่วยให้นักเดินทางอย่างเรา ๆ สบายใจมากขึ้น ซึ่งแต่ละสายการบินก็มีอัตราค่าธรรมเนียมที่แตกต่างกันไป หากชั่งน้ำหนักกระเป๋าดูแล้วเกินโควต้า อย่าลืมซื้อน้ำหนักเพิ่มล่วงหน้าเพื่อจะได้ประหยัดเวลาตอนเช็กอิน

2. ศึกษาข้อมูลสิ่งของต้องห้ามนำโหลดใต้ท้องเครื่องบิน

เช็กของในกระเป๋าเดินทาง

การรู้ข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งของต้องห้ามโหลดใต้กระเป๋าขึ้นเครื่องบินเป็นเรื่องสำคัญมาก บางครั้งของที่คิดว่าปลอดภัย หรือเป็นเรื่องธรรมดา อาจจะขัดต่อกฎระเบียบและสร้างความยุ่งยากก่อนออกเดินทางเอาได้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่จะทำให้ทริปสะดุดกลางคัน มารีเช็กกันว่ามีสิ่งของประเภทใดบ้างที่อนุญาต และไม่อนุญาตให้โหลดใต้เครื่องได้

ของที่อนุญาตให้โหลดใต้เครื่อง 

1. ของเหลว เช่น ยาสระผม ครีมอาบน้ำ หรือสกินแคร์ต่าง ๆ ต้องอยู่ในบรรจุภัณฑ์ที่ปิดสนิทและโหลดใส่กระเป๋าใต้เครื่องเท่านั้น ในกรณีที่ต้องการพกติดตัวขึ้นเครื่อง สามารถแยกใส่ขวดเล็กโดยมีปริมาณชิ้นละไม่เกิน 100 มิลลิลิตร (สูงสุดไม่เกิน 10 ชิ้น) รวมกันไม่เกิน 1,000 มิลลิลิตร

2. ยารักษาโรค ถือว่าเป็นของจำเป็นสำหรับผู้โดยสารที่มีโรคประจำตัว ควรมีเอกสารกำกับยาหรือใบรับรองแพทย์ให้ชัดเจนและใส่บรรจุภัณฑ์มิดชิด ในส่วนของยาสามัญประจำบ้าน เช่น ยาเม็ดหรือแคปซูลทั่วไป สามารถพกติดตัวหรือโหลดใต้เครื่องได้โดยไม่ต้องมีใบอนุญาต แต่ยาน้ำหรือสเปรย์ต้องเป็นไปตามกฎการพกของเหลวขึ้นเครื่องบิน หรือแนะนำติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Call Center 1771 (08.00 – 20.00 น.) หรือผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียของบางกอกแอร์เวย์สได้ตลอด 24 ชั่วโมง

3. อาหารแห้ง เช่น ของฝากต่าง ๆ อย่างขนมบรรจุห่อ บะหมี่สำเร็จรูป ปลากระป๋อง น้ำพริกแห้ง น้ำจิ้มต่าง ๆ สามารถโหลดใส่กระเป๋าใต้เครื่องได้ถ้ามีบรรจุภัณฑ์ที่มิดชิดปลอดภัยตามมาตรฐาน ส่วนอาหารสด เนื้อสัตว์ ไม่อนุญาตให้โหลดใต้เครื่องโดยเด็ดขาด

ของที่ไม่อนุญาตให้โหลดใต้เครื่อง

1. แบตเตอร์รี่สำรอง หรือพาวเวอร์แบงค์ เรียกได้ว่าเป็นอุปกรณ์ที่ต้องอยู่คู่กับโทรศัพท์มือถืออย่างขาดไม่ได้ 

  • แบตเตอร์รี่สำรองที่มีความจุไฟฟ้าไม่เกิน 20,000 mAh สามารถนำติดตัวขึ้นเครื่องได้ไม่จำกัดชิ้น 
  • แบตเตอร์รี่สำรองที่มีความจุระหว่าง 20,000-32,000 mAh สามารถพกขึ้นเครื่องได้ไม่เกิน 2 ชิ้น 
  • แบตเตอร์รี่สำรองที่มีความจุความจุเกินกว่า 32,000 mAh ขึ้นไป ไม่อนุญาตให้พกขึ้นเครื่องหรือโหลดใส่กระเป๋าใต้เครื่องโดยเด็ดขาด

2. แล็ปท็อป แท็บเล็ต และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบพกพาอื่น ๆ เช่น นาฬิกาข้อมือ กล้องถ่ายรูป ต้องพกติดตัวขึ้นเครื่องเท่านั้นเช่นกัน ไม่อนุญาตให้โหลดใส่กระเป๋าใต้เครื่องโดยเด็ดขาด

3.  ของมีคม เช่น กรรไกร คัตเตอร์ ที่โกนหนวด หากพิจารณาแล้วว่าเป็นของใช้จำเป็น อนุโลมให้โหลดใส่กระเป๋าใต้เครื่องได้แต่ต้องบรรจุหีบห่อมิดชิด ส่วนของมีคมอื่น ๆ ที่ถูกพิจารณาว่าเป็นสิ่งเทียมอาวุธ และอุปกรณ์ป้องกันตัว เช่น มีดพก สนับมือ กระบอง เครื่องช็อตไฟฟ้า จะไม่สามารถพกติดตัวหรือโหลดใต้เครื่องได้โดยเด็ดขาด ในกรณีที่จำเป็นต้องนำเดินทางไปด้วย ต้องแจ้งสายการบินเพื่อขออนุญาตล่วงหน้า และดำเนินขั้นตอนตามมาตรการความปลอดภัยของสนามบิน

4. วัตถุไวไฟ หรือสิ่งที่อาจก่อให้เกิดประกายไฟทุกชนิด รวมถึงวัตถุระเบิด ไม่อนุญาตให้นำขึ้นเครื่องหรือโหลดใส่กระเป๋าใต้เครื่องโดยเด็ดขาด เพราะอาจสร้างความเสียหายและเป็นอันตรายถึงชีวิต

5. ยาเสพติดและสารอันตราย ถือเป็นสิ่งของผิดกฎหมาย ไม่อนุญาตให้นำขึ้นเครื่องหรือโหลดใส่กระเป๋าใต้เครื่องโดยเด็ดขาด หากละเมิดจะถูกดำเนินคดีและมีโทษจำคุกตามกฎหมาย

3. เลือกใช้กระเป๋าเดินทางที่เหมาะสม

กระเป๋าเดินทาง

การพกสัมภาระที่จำเป็นและพอดีกับระยะเวลาเดินทาง เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ทริปท่องเที่ยวของเราราบรื่นไม่มีสะดุด สำหรับกระเป๋าเดินทางในปัจจุบัน ก็มีหลายวัสดุให้ได้เลือกใช้ตามความชอบของแต่ละคน ที่เป็นที่นิยมอย่างมากก็คือ กระเป๋าที่ผลิตจากวัสดุ PC, PP และ ABS ซึ่งมีความทนทาน กันกระแทกได้ และตัวล็อกแข็งแรง ช่วยให้อุ่นใจได้ว่าสัมภาระข้างในจะปลอดภัยหายห่วงตลอดการเดินทาง

นอกจากการเช็กโควต้าน้ำหนักกระเป๋าของสายการบินที่เลือกใช้บริการแล้ว ระยะเวลาเดินทางของเราก็ช่วยให้เลือกขนาดกระเป๋าได้ง่ายขึ้นเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น 

  • เดินทางเบา ๆ 1-2 วัน: อาจดูเป็นกระเป๋าถือขึ้นเครื่องได้ หรือกระเป๋าเดินทางที่ขนาดไม่เกิน 20 นิ้ว และจุสัมภาระไม่เกิน 7 กิโลกรัม ช่วยให้ไม่เสียเวลารอโหลดใต้เครื่องตอนเช็กอิน
  • เดินทางแบบชิลวันหยุดยาว 3-4 วัน: ใช้เป็นกระเป๋าเดินทางขนาด 22-24 นิ้วก็กำลังดี สำหรับการจุเสื้อผ้าและของใช้ส่วนตัวต่าง ๆ แถมยังมีพื้นที่เผื่อใส่ของฝากตอนขากลับได้ด้วย
  • เดินทางแบบจุใจฉบับลาพักร้อน 5-7 วันขึ้นไป: เที่ยวนานย่อมแปลว่าของเยอะ แนะนำให้เลือกกระเป๋าเดินทางขนาด 26-28 นิ้ว ถือว่าเพียงพอต่อเสื้อผ้า รองเท้า และของใช้จำเป็นสำหรับเที่ยวระยะยาวแน่นอน ที่สำคัญอย่าแพ็กของเพลินจนลืมชั่งน้ำหนักกระเป๋าก่อนโหลดขึ้นเครื่อง            เพราะหากเกินโควต้าโหลดกระเป๋าฟรี จะต้องคัดของที่ไม่จำเป็นออก หรือต้องซื้อน้ำหนักกระเป๋าเพิ่ม

4. จัดกระเป๋าเดินทางให้ถูกวิธี

การจัดกระเป๋าเดินทาง

ได้ไปเที่ยวทั้งที จะขนของเยอะจนเทอะทะไม่คล่องตัวก็คงหมดสนุกแย่ แต่จะพกของไปน้อยเกินจนไม่พอใช้ตลอดทริปก็ไม่ได้อีก ลองมาดูทริกเล็ก ๆ น้อย ๆ ในการจัดกระเป๋าเดินทาง ที่จะช่วยลดภาระน้ำหนักกระเป๋า และข้าวของเป็นระเบียบหยิบใช้ง่ายมากขึ้น

  • ม้วนเสื้อผ้าแทนการพับ ช่วยประหยัดพื้นที่และลดรอยยับได้
  • เลือกใส่ชุดที่ Mix & Match ได้หลายแบบ ช่วยลดการพกเสื้อผ้าหลายชิ้นโดยไม่จำเป็น
  • ใช้กระเป๋าเล็กเพื่อจำแนกหมวดหมู่ของใช้ ช่วยให้ของถูกจัดเก็บเป็นสัดส่วนและหยิบใช้สะดวก เช่น กระเป๋าเครื่องสำอาง กระเป๋าชุดชั้นใน กระเป๋าใส่รองเท้าและถุงเท้า เป็นต้น
  • พกถุงสำหรับแยกเสื้อผ้าใช้แล้ว เพื่อสุขอนามัยที่ดี และป้องกันกลิ่นอับชื้นที่อาจไปติดเสื้อผ้าใหม่ตัวอื่น ๆ ในกระเป๋า
  • จัดเรียงของเพื่อถ่ายเทน้ำหนักกระเป๋าให้สมดุล โดยวางของที่มีน้ำหนักมากไว้ด้านล่างสุดก่อน เช่น กางเกงยีน เสื้อหนาว จากนั้นค่อยทยอย ๆ เรียงของที่มีน้ำหนักเบากว่าตามมาเป็นชั้น ๆ ให้เต็ม และเลือกของที่ยับง่ายหรือต้องการเลี่ยงการกดทับไว้ตรงกลาง

5. แพ็กของให้มิดชิด งดผลไม้กลิ่นแรง

ทุเรียน

เพื่อการท่องเที่ยวที่เพลิดเพลินไรักังวล หลีกเลี่ยงการนำสิ่งของที่ไม่ถูกบรรจุหีบห่อให้ดี หรือสิ่งของที่สายการบินอาจพิจารณาว่าไม่เหมาะกับการขนส่งทางอากาศขึ้นเครื่องบินไปด้วย เช่น อาหารสด ผลไม้และดอกไม้ที่มีกลิ่นแรง สิ่งของที่ชำรุดแตกหักง่าย วัตถุอันตราย และของผิดกฎหมาย เพราะการพกของเหล่านี้ไปด้วย นอกจากจะสร้างปัญหากวนใจให้แล้ว ยังมีความเสี่ยงทำให้การเดินทางติดขัดไม่ราบรื่นได้

6. ตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมหากมีสัมภาระพิเศษ

อุปกรณ์ดำน้ำ

นอกจากสิ่งของต้องห้ามต่าง ๆ ที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว ผู้โดยสารบางคนอาจมีเหตุจำเป็นที่ต้องขน “สัมภาระพิเศษ” เดินทางขึ้นเครื่องไปด้วย หรือก็คือ สิ่งของที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ และมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมนอกเหนือจากสัมภาระปกติทั่วไป ยกตัวอย่างเช่น

  • อุปกรณ์กีฬา เช่น จักรยาน เซิร์ฟบอร์ด อุปกรณ์ดำน้ำ
  • เครื่องดนตรี เช่น กีตาร์ กลอง คีย์บอร์ด เป็นต้น
  • อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดใหญ่ เช่น คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ โทรทัศน์

โดยสัมภาระพิเศษเหล่านี้จะต้องถูกบรรจุในกล่องหรือหีบห่อที่เหมาะสมเพื่อป้องกันความเสียหาย และแต่ละสายการบินก็จะมีค่าธรรมเนียมการดูแลรักษาที่แตกต่างกัน หากจำเป็นต้องโหลดสัมภาระพิเศษขึ้นเครื่องจริง ๆ ก็อย่าลืมตรวจสอบข้อมูลให้ดีก่อนเดินทาง

บินกับบางกอกแอร์เวย์ส ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสัมภาระชนิดพิเศษได้ที่นี่

7. ศึกษาข้อกำหนดการนำสัมภาระเข้า-ออกประเทศ

การตรวจสอบสัมภาระที่สนามบิน

ในกรณีที่เดินทางไปต่างประเทศ ท่าอากาศยานบางแห่งอาจมีข้อกำหนดเกี่ยวกับสัมภาระเข้า-ออกประเทศที่เราควรศึกษาให้ถี่ถ้วนก่อนออกเดินทาง เช่น เงินสดจำนวนมาก ยาต้องห้าม พระพุทธรูป สินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ บุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น ซึ่งของบางชนิดหากนำเข้า-ออกโดยไม่ได้รับอนุญาต จะเป็นการละเมิดกฎหมายอันส่งผลเสียอย่างมากต่อผู้เดินทางเองโดยตรง

ทั้งหมดนี้ก็คือ 7 ข้อควรระวังก่อนโหลดกระเป๋าใต้เครื่อง ที่รู้ไว้ก่อนปลอดภัยกว่า อุ่นใจกว่า และสามารถเตรียมตัวได้อย่างละเอียดรอบคอบ ช่วยให้การเดินทางด้วยเครื่องบินของคุณราบรื่นตลอดทาง เที่ยวสนุกทุกทริปอย่างแน่นอน

เดินทางกับ Bangkok Airways สะดวกสบายตลอดทริป ทั้งเส้นทางในประเทศและต่างประเทศ

สายการบิน Bangkok Airways บินตรงหลากหลายเส้นทางทั้งในและต่างประเทศ จากกรุงเทพฯ สู่จุดหมายปลายทางที่คุณต้องการ ไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพ – สมุย, กรุงเทพ – เชียงใหม่ หรือลัดฟ้าไกลอย่างกรุงเทพ – มัลดีฟส์, กรุงเทพ – หลวงพระบาง เปิดประสบการณ์การท่องเที่ยวอันน่าตื่นเต้น และสัมผัสความรู้สึกพิเศษในทุกการเดินทางกับบริการแบบฟูลเซอร์วิสทุกเที่ยวบินไปกับ Bangkok Airways สายการบินที่ใส่ใจทุกรายละเอียดเพื่อความสะดวกสบายและคุ้มค่าของคุณ ไม่ว่าจะเป็น

  • บริการห้องรับรองสำหรับผู้โดยสารทุกท่าน
  • น้ำหนักโหลดกระเป๋าท่านละ 20 กิโลกรัม
  • บริการอาหารและเครื่องดื่มบนเที่ยวบิน

“ Bangkok Airways, Asia’s Boutique Airline ”

Share This Story with your travel friends!
Facebook
Twitter
LinkedIn
Email
Related Posts